Hungary, Republic of

สาธารณรัฐฮังการี




     สาธารณรัฐฮังการีเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล ตั้งอยู่ในยุโรปตะวันออกบนคาบสมุทรบอลข่าน (Balkan) มีประวัติศาสตร์ย้อนไปได้ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๙เป็นดินแดนของชนเผ่าแมกยาร์ (Magyar) และศูนย์กลางของความเจริญและการรับอารยธรรมจากยุโรปตะวันตก ราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (Habsburg) แห่งออสเตรีย ได้เข้าปกครองฮังการีและมีอิทธิพลอยู่เป็นเวลากว่า ๒๐๐ ปีจนสิ้นสงครามโลกครั้งที่ ๑ ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ฮังการีได้เข้าร่วมรบกับฝ่ายเยอรมนี และอิตาลี ภายหลังสงคราม ฮังการีต้องตกอยู่ใต้อิทธิพลของสหภาพโซเวียตและปกครองตามระบอบสังคมนิยม ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ก่อนสหภาพโซเวียตล่มสลาย ฮังการีเป็นรัฐบริวารแรก ๆ ที่แยกตัวเป็นอิสระจากสหภาพโซเวียตและจัดตั้งระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐและส่งเสริมระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย
     ประวัติศาสตร์ฮังการีเริ่มต้นใน ค.ศ. ๘๙๖ เมื่ออาร์พัด (rpád) นำชาวแมกยาร์ซึ่งเป็นชนเผ่าฟินโน-ยูกริก (Finno-Ugric) จากบริเวณป่าในลุ่มแม่น้ำวอลกาตอนบน (upper Volga) และแม่น้ำคามา (Kama) เข้าครอบครองดินแดนแถบเทือกเขาคาร์เพเทียนที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพรรณธัญญาหาร ขณะเดียวกันก็เดินทางเข้าปล้นสะดมดินแดนต่าง ๆ ทั่วยุโรป จนในที่สุดได้พ่ายแพ้ต่อกองทัพของจักรพรรดิออทโทที่ ๑ (Otto I ค.ศ. ๙๓๖-๙๗๓) หรือจักรพรรดิออทโทมหาราชแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire) ใน ค.ศ. ๙๕๕ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ชาวฮังการีก็เริ่มอยู่ในความสงบและยอมรับวัฒนธรรมของยุโรป ต่อมาดุ็กกีซา (G”za ค.ศ. ๙๗๒-๙๙๗) ซึ่งเป็นเหลนของอาร์พัดได้หันมาสร้างความสัมพันธ์อันดีกับจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และเปลี่ยนมานับถือคริสต์ศาสนาสตีเฟน (Stephen) หรืออิชต์วาน (István) พระโอรสได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงแห่งบาวาเรีย (Bavaria) และได้สืบตำแหน่งผู้นำจากพระบิดา
     ใน ค.ศ. ๑๐๐๑ สตีเฟนทรงได้รับเลือกตั้งเป็นกษัตริย์พระองค์แรกของฮังการีโดยการสนับสนุนจากสันตะปาปาซิลเวสเตอร์ที่ ๒ (Sylvester II) และความเห็นชอบของจักรพรรดิออทโทที่ ๓ (Otto III ค.ศ. ๙๘๓-๑๐๐๒) สันตะปาปาซิลเวสเตอร์ ที่ ๒ ประทานพระมหามงกุฎและสมัญญานาม “กษัตริย์สาวกของพระเป็นเจ้า” [(Apostolic King) หลังจากสวรรคตแล้ว พระเจ้าสตีเฟนทรงได้รับประกาศแต่งตั้งจากสันตะปาปาให้เป็น “กษัตริย์นักบุญสตีเฟน” ใน ค.ศ. ๑๐๘๓]และยอมรับให้พระองค์ทรงมีอำนาจในการเป็นผู้นำทั้งทางฝ่ายอาณาจักรและศาสนจักรเหนือดินแดนฮังการี พระเจ้าสตีเฟนทรงมีสิทธิตั้งเขตการปกครองของวัดในระดับต่างๆ (episcopal sees และ dioceses) รวมทั้งการเผยแผ่คริสต์ศาสนาและการบริหารองค์การคริสต์ศาสนาภายในฮังการีได้อย่างอิสระ นอกจากนี้จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ยังยอมให้ฮังการีเป็นอิสระจากการควบคุมทั้งทางด้านการเมืองและด้านศาสนาอีกด้วยพระราชอำนาจและสิทธิต่าง ๆ ของกษัตริย์ฮังการีจึงได้รับการยอมรับในสมัยต่อ ๆ มาด้วย และทำให้ฮังการีสามารถรักษาเอกราชได้ตลอดสมัยกลาง ส่วนสมัญญานาม “กษัตริย์สาวกของพระเป็นเจ้า” นั้น กษัตริย์ฮังการีก็ทรงใช้สืบทอดกันต่อมาจนถึงสมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน ค.ศ. ๑๙๑๘
     รัชสมัยของพระเจ้าสตีเฟน (ค.ศ. ๑๐๐๑-๑๐๓๘) เป็นจุดหักเหทางประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของฮังการี พระองค์ทรงยกเลิกองค์กรเผ่าและจัดตั้งระบอบการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจขึ้น ซึ่งทำให้ฮังการีสามารถรวมตัวกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ อีกทั้งยังมีการแบ่งภาระหน้าที่และสิทธิของประชาชนในการปกครองอย่างชัดเจน รวมทั้งการส่งเสริมให้ประชาชนนับถือคริสต์ศาสนาด้วยต่อมา ในรัชสมัยของพระเจ้าลาดิสลัสที่ ๑ (Ladislas I ค.ศ. ๑๐๔๐-๑๐๙๕) ฮังการีสามารถขยายอำนาจเข้าปกครองโครเอเชีย บอสเนีย และบางส่วนของทรานซิลเวเนีย(Transylvania) ในที่สุดก็เข้ายึดดินแดนบางส่วนของดัลเมเชีย (Dalmatia) ได้
     ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๒ เมื่ออำนาจของกษัตริย์ฮังการีเริ่มเสื่อมลง ขุนนางจึงเห็นเป็นโอกาสขยายอำนาจและทำให้ระบอบการปกครองแบบฟิวดัล (Feudalism)ฝังรากลึกในฮังการีในรัชสมัยพระเจ้าแอนดรัสที่ ๒ (András II ค.ศ. ๑๒๐๕-๑๒๓๕)ได้มีการประกาศพระราชโองการสารตราทอง (Golden Bull) ขึ้นใน ค.ศ. ๑๒๒๒ในทำนองเดียวกับแมกนาคาร์ตา (Magna Carta) หรือมหากฎบัตร (Great Charter)ของอังกฤษใน ค.ศ. ๑๒๑๕ โดยกำหนดให้มีการประชุมขุนนางประจำปี และให้อำนาจขุนนางในการยับยั้งการใช้พระราชอำนาจของกษัตริย์หรือการออกพระราชโองการที่ขัดต่อกฎหมายหรือสิทธิของขุนนาง ขุนนางได้รับการค้ำประกันไม่ต้องเสียภาษีอากรและไม่มีพันธะในการออกรบนอกประเทศ ขณะเดียวกัน กษัตริย์ก็สามารถรักษาโครงสร้างของสังคมและการปกครองที่พระเจ้าสตีเฟนทรงจัดตั้งไว้ได้พระราชโองการสารตราทอง ค.ศ. ๑๒๒๒ หรือมีชื่อเรียกว่า “แมกนาคาร์ตาของฮังการี”ดังกล่าวนี้เป็นการประนีประนอมกันระหว่างกษัตริย์กับชนชั้นขุนนางและเป็นรากฐานของการพัฒนาระบอบการปกครองของฮังการีในสมัยต่อ ๆ มา
     ระหว่าง ค.ศ. ๑๒๔๑-๑๒๔๒พวกตาตาร์ (Tatar) หรือมองโกล (Mongol)จากทวีปเอเชียได้เข้ารุกรานฮังการีและสร้างความหายนะอย่างมหาศาลให้ทั้งแก่ชีวิตและทรัพย์สิน เมื่อพวกมองโกลยกทัพกลับไปแล้ว ฮังการีตกอยู่ในสภาพพินาศประชาชนอดอยากยากไร้ พระเจ้าเบลาที่ ๔ (B”la IV ค.ศ. ๑๒๓๕-๑๒๗๐)ทรงพยายามฟื้นฟูบูรณะประเทศและจัดตั้งระบบป้องกันประเทศใหม่ อีกทั้งยังชักชวนชาวเยอรมันให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในฮังการีเพื่อเป็นการชดเชยกับจำนวนประชากรที่ล้มตายจากภัยของสงครามอีกด้วย ฮังการีจึงเริ่มสร้างประเทศขึ้นมาใหม่และพระเจ้าเบลาที่ ๔ ก็ทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญานามในเวลาต่อมาว่า “พระผู้ก่อตั้งประเทศองค์ที่ ๒”(รองจากพระเจ้าสตีเฟน)
     ใน ค.ศ. ๑๓๐๑ ราชวงศ์อาร์พัดได้สิ้นสุดลงและก่อให้เกิดการแย่งชิงบัลลังก์ระหว่างพระญาติที่สืบเชื้อสายทางฝ่ายสตรี ใน ค.ศ. ๑๓๐๗ เจ้าชายชาลส์อัลเบิร์ต (Charles Albert) ในราชวงศ์อองชู (Anjou) แห่งอาณาจักรเนเปิลส์(Kingdom of Naples) ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์อาร์พัดด้วยก็ทรงสามารถสถาปนาอำนาจในการปกครองฮังการีได้ เจ้าชายชาลส์ อัลเบิร์ตเสด็จขึ้นครองราชสมบัติและเฉลิมพระนามพระเจ้าชาลส์ที่ ๑ (Charles I ค.ศ. ๑๓๐๗-๑๓๔๒)และเรียกนามราชวงศ์ใหม่ว่า แอนจิิวน (Angevin) ในรัชกาลของพระเจ้าชาลส์ที่ ๑และโดยเฉพาะพระเจ้าหลุยส์มหาราช (Louis the Great ค.ศ. ๑๓๔๒-๑๓๘๒)พระราชโอรส ฮังการีเป็นดินแดนในยุโรปที่เจริญก้าวหน้าและมีอิทธิพลที่สุด ฮังการีสามารถขยายเขตแดนจดทะเลบอลติก ทะเลดำ และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน(Mediterranean) เงินเหรียญทองฟลอริน (gold florin) เป็นเงินสกุลที่แข็งที่สุดสกุลหนึ่งของยุโรป นอกจากนี้ยังมีการนำขนบธรรมเนียมประเพณีและอุดมการณ์วีรคติของอัศวิน (ideals of chivalry) ของฝรั่งเศส เข้ามาเผยแพร่ในฮังการีอีกด้วยมีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นใน ค.ศ. ๑๓๖๗ กษัตริย์ก็ทรงเป็นองค์อุปถัมภกงานศิลปะและศาสนา มีการสร้างโบสถ์ิวหารและปราสาทศิลปะแบบกอทิก (Gothic) ที่นิยมในยุโรปตะวันตก ขณะนั้น จัดทำพระราชพงศาวดารและหนังสือบทสวดมนต์นอกจากนี้ ใน ค.ศ. ๑๓๗๐พระเจ้าหลุยส์มหาราชยังทรงได้รับเลือกให้เป็นกษัตริย์แห่งโปแลนด์ สืบต่อจากพระเจ้าคาซีเมียร์ที่ ๓ (Casimir III) พระราชอัยกา ซึ่งทำให้กษัตริย์ฮังการีทรงมีฐานะเป็นผู้นำของรัฐต่างๆ ในยุโรปตะวันออกส่วนกลางตามระบอบการปกครองแบบฟิวดัล อันได้แก่ บอสเนีย เซอร์เบีย และวัลเลเคีย(Walachia; Wallachia) ในคาบสมุทรบอลข่าน จึงนับว่าฮังการีเป็นราชอาณาจักรที่มีขอบเขตการปกครองใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของยุโรป
     ใน ค.ศ. ๑๓๘๒ เมื่อพระเจ้าหลุยส์มหาราชสวรรคต สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบทพระมเหสีทรงปกครองฮังการีในพระนามของสมเด็จพระราชินีนาถมาเรีย(Maria)พระราชธิดาซึ่งยังทรงพระเยาว์ ในช่วงระยะเวลานี้พวกขุนนางต่างแย่งชิงอำนาจกันและสนับสนุนพระราชวงศ์ชายที่ตนมีความใกล้ชิดให้ขึ้นครองราชสมบัติหัวหน้าตระกูลขุนนางสำคัญ ๆ ถูกลอบสังหาร รวมทั้งพระเจ้าชาลส์แห่งเนเปิลส์ที่อยู่ในสายของการสืบราชสันตติวงศ์ก็ถูกสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบทยุยงให้พวกขุนนางฝ่ายตรงข้ามลอบปลงพระชนม์ ต่อมาสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบทเองก็ทรงถูกจับกุมและสำเร็จโทษ ปัญหาการแย่งชิงราชสมบัติยุติลงเมื่อซิกิสมุนด์แห่งลักเซมเบิร์ก (Sigismund of Luxembourg) พระราชโอรสในจักรพรรดิชาร์ลที่ ๔ (Charles IV) แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถมาเรียได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติฮังการีคู่กับสมเด็จพระราชินีนาถมาเรียใน ค.ศ. ๑๓๘๗ แต่ในทางปฏิบัติพระเจ้าซิกิสมุนด์ (ค.ศ. ๑๓๘๗-๑๔๓๗)ทรงมีพระราชอำนาจและบริหารประเทศแต่เพียงลำพังพระองค์เดียว
     ใน ค.ศ. ๑๓๙๖พระเจ้าซิกิสมุนด์ทรงทำสงครามกับพวกเติร์กที่เข้ารุกรานดินแดนในคาบสมุทรบอลข่าน แต่ต้องพ่ายแพ้ที่ยุทธการที่นิโคโปลิส (Battle ofNicopolis) ซึ่งนับเป็นสงครามศาสนาครั้งสุดท้ายในยุโรปกลาง นับแต่นั้นเป็นต้นมากอปรกับใน ค.ศ. ๑๔๑๐ พระเจ้าซิกิสมุนด์ทรงได้รับสถาปนาเป็นกษัตริย์แห่งโบฮีเมียและกษัตริย์เยอรมัน (German King) หรืออีกนัยหนึ่งจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (แต่มิได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจนถึงค.ศ. ๑๔๑๔) จึงทำให้พระองค์มุ่งความสนพระทัยในการประกอบพระราชกรณียกิจในดินแดนอื่น ๆ ที่มิใช่ฮังการีหนึ่งในพระราชกรณียกิจ ได้แก่ การเสด็จไปเป็นประธานในการประชุมสภาศาสนาแห่งเมืองคอนชตันซ์ (Council of Konstanz) และตัดสินให้ลงโทษเผาจอห์น ฮูส (John Hus) นักบวชชาวโบฮีเมียซึ่งเป็นผู้นำการปฏิรูปศาสนารุ่นแรก ๆ ที่มีอุดมการณ์ต่อต้านองค์กรคริสตจักรโรมันคาทอลิกอันนับเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามปราบปรามกบฏโบฮีเมียและพระองค์ทรงทอดทิ้งฮังการีมากยิ่งขึ้น
     ใน ค.ศ. ๑๔๓๗ จักรพรรดิอัลเบิร์ต (Albert) แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ราชวงศ์ฮับส์บูร์ก พระชามาดา (บุตรเขย) ได้สืบราชสมบัติฮังการีต่อจากพระเจ้าซิกิสมุนด์ ตามที่พระเจ้าซิกิสมุนด์ทรงทำข้อตกลงไว้กับพวกขุนนาง ทรงครองราชย์เพียง ๒ปีก็เสด็จสวรรคตใน ค.ศ. ๑๔๓๙ แต่การครองราชสมบัติดังกล่าวนี้นับเป็นก้าวแรกที่ผูกพันฮังการีเข้ากับราชวงศ์ฮับส์บูร์กและออสเตรีย ซึ่งต่อมาทำให้สมาชิกของราชวงศ์ฮับส์บูร์กแห่งออสเตรีย ดำรงพระอิสริยยศกษัตริย์แห่งฮังการีจนกระทั่งประเทศเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นสาธารณรัฐใน ค.ศ. ๑๙๑๘
     อย่างไรก็ดี ในระยะแรก ๆ ราชวงศ์ฮับส์บูร์กก็ยังไม่สามารถขยายอำนาจเข้าปกครองฮังการีได้ หลังจากจักรพรรดิอัลเบิร์ตสวรรคตขุนนางฮังการีได้อัญเชิญพระเจ้าวลาดิสลัสยักเยลลอน ที่ ๓ (Wladislas Jagiellon III) แห่งโปแลนด์ เป็นกษัตริย์และเฉลิมพระนามว่าพระเจ้าวลาดิสลัสที่ ๑ (Wladislas I ค.ศ. ๑๔๔๐-๑๔๔๔)แห่งฮังการีขณะเดียวกันจักรพรรดิเฟรเดอริกที่ ๓ (Frederick III) แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และขุนนางแห่งตระกูลยารอย (Garoi) และคิลลี(Cilli) ที่มีอำนาจของฮังการีก็สนับสนุนให้เจ้าชายลาดิสลัส (Ladislas) พระราชโอรสของจักรพรรดิอัลเบิร์ตซึ่งประสูติภายหลังที่พระราชบิดาสวรรคตแล้วเป็นกษัตริย์ [พระราชมารดาทรงลี้ภัยในกรุงเวียนนาและทรงนำพระมหามงกุฎแห่งฮังการี (Hungarian crown)ไปด้วย] การอ้างสิทธิของราชวงศ์ฮับส์บูร์กในราชบัลลังก์ฮังการีก็ได้ดำเนินต่อไปจนกระทั่งพระเจ้าวลาดิสลัสที่ ๑ สวรรคตในการทำสงครามกับพวกเติร์กในยุทธการที่วาร์นา (Battle of Varna) ใน ค.ศ. ๑๔๔๔ แม้ว่าต่อมาเจ้าชายลาดิสลัส (เฉลิมพระนามพระเจ้าลาดิสลัสที่ ๕) จะได้รับการยอมรับเป็นกษัตริย์ แต่ด้วยพระชันษาที่เยาว์วัยกอปรกับวิกฤตการณ์สงครามที่ฮังการีและจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์กำลังเผชิญกับการรุกรานของพวกเติร์ก ทำให้ฮังการีต้องตกอยู่ในภาวะการขาดผู้ปกครอง (interregnum) ในช่วงวิกฤตการณ์ดังกล่าวนี้ ยานอส ฮุนยาดี (JánosHunyadi) ขุนนางชาวฮังการีก็ได้เข้ามาทำหน้าที่เป็นข้าหลวงหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระเจ้าลาดิสลัสที่ ๕ และสามารถป้องกันฮังการีจากภัยของพวกเติร์ก รวมทั้งมีชัยชนะต่อกองทัพเติร์กที่กรุงเบลเกรดใน ค.ศ. ๑๕๕๖ อีกด้วย ซึ่งทำให้ฮังการีปลอดสงครามจากการรุกรานของพวกเติร์กต่อมาเป็นเวลาถึง ๗๐ ปี
     ใน ค.ศ. ๑๕๕๘ หลังจากพระเจ้าลาดิสลัสที่ ๕ สวรรคตโดยปราศจากรัชทายาท ขุนนางฮังการีจึงพร้อมใจกันเลือกมัททีอัส คอร์ไวนัส (Matthias Corvinus)บุตรชายคนที่ ๒ ของฮุนยาดีเป็นกษัตริย์ เฉลิมพระนามว่าพระเจ้ามัททีอัสที่ ๑(Matthias I ค.ศ. ๑๕๔๘-๑๕๙๐) นับเป็นการเริ่มยุคทองในประวัติศาสตร์ฮังการีอีกครั้งหนึ่ง ฮังการีได้เข้าสู่ความเจริญของโลกตะวันตกตามกระแสของสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance)พระเจ้ามัททีอัสที่ ๑ สามารถทำลายอำนาจของพวกบารอนหรือขุนนางระดับสูงและจัดตั้งระบอบการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจได้และทรงใช้ “สามัญชน”อันได้แก่ ขุนนางในระดับล่างและชนชั้นกลางตามแนวคิดของตระกูลเมดีซี (Medici) แห่งนครฟลอเรนซ์ (Florence) ในอิตาลี เป็นกลไกหรือกำลังสำคัญในการปกครองประเทศ ทรงจัดตั้งกองทัพแห่งชาติและประสบความสำเร็จในการทำสงครามกับโบฮีเมียและออสเตรีย จนสามารถยึดครองกรุงเวียนนาได้ใน ค.ศ. ๑๔๘๕ และทรงคิดจัดตั้งฮังการีเป็นจักรวรรดิที่เข้มแข็งเพื่อป้องกันภัยจากพวกเติร์กซึ่งขณะนั้นได้ประสบความสำเร็จในการยึดครองจักรวรรดิไบแซนไทน์ (Byzantine) แล้วตั้งแต่ ค.ศ. ๑๔๕๓ ส่วนราชสำนักฮังการีณ กรุงบูดาก็เป็นศูนย์กลางของการศึกษาที่ดึงดูดความสนใจของพวกมนุษยนิยม (humanist)จากยุโรปตะวันตกให้เดินทางมายังฮังการีพร้อมกับการเผยแพร่ศาสตร์และศิลป์ของสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการ ห้องสมุดมัททีอัสหรือห้องสมุดคอร์ไวนัสเป็นแหล่งรวบรวมหนังสือที่ได้รับการยกย่องว่าดีที่สุดแห่งหนึ่งของยุโรป
     อย่างไรก็ดี เมื่อพระเจ้ามัททีอัสที่ ๑ สวรรคตใน ค.ศ. ๑๔๙๐ โดยไม่มีรัชทายาทที่ถูกต้องตามกฎหมาย ยุคทองของฮังการีก็เป็นอันสิ้นสุดลงด้วย พวกขุนนางได้หันไปเลือกพระเจ้าวลาดิสลัสที่ ๒ แห่งโบฮีเมียที่อ่อนแอมาเป็นกษัตริย์แห่งฮังการีและในที่สุดก็สามารถสถาปนาอำนาจการปกครองในระบอบฟิวดัลในระดับต่าง ๆ ได้อีกครั้ง พวกขุนนางได้ยกเลิกนโยบายการปฏิรูปสังคมของพระเจ้ามัททีอัสที่ ๑ จนทำให้พวกชาวนาไม่พอใจและก่อการกบฏครั้งใหญ่ขึ้นใน ค.ศ. ๑๕๑๔แต่ถูกปราบปรามอย่างทารุณ ต่อมาใน ค.ศ. ๑๕๑๗ ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๒ (Louis II ค.ศ. ๑๕๑๖-๑๕๒๖)พระราชโอรสในพระเจ้าวลาดิสลัสที่ ๒พวกขุนนางได้ประสบความสำเร็จในการออกกฎหมายค้ำประกันสิทธิความเสมอภาคระหว่างขุนนางระดับสูงกับระดับล่างและสิทธิในการเลือกตั้งกษัตริย์ นอกจากนี้พวกขุนนางยังได้รับสิทธิในฐานะเป็น “สมาชิกของราชบัลลังก์” ในการใช้อำนาจนิติบัญญัติร่วมกับกษัตริย์ในการบริหารประเทศอีกด้วย
     ขณะเดียวกันพระเจ้าหลุยส์ที่ ๒ ก็ต้องเผชิญศึกกับพวกเติร์กที่สามารถยึดครองคาบสมุทรบอลข่านไว้ได้ และเดินทัพเพื่อโจมตีฮังการีต่อไป ในยุทธการที่โมฮัก(Battle of Mohdács) ทางตอนใต้ของฮังการีเมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ค.ศ. ๑๕๒๖กองทัพฮังการีประสบความหายนะ และพระเจ้าหลุยส์ที่ ๒ ก็เสด็จสวรรคตในคราวนั้นด้วย แม้สงครามจะสิ้นสุดลงและพวกเติร์กเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะแต่ก็มิได้เข้ายึดครองฮังการี ต่อมา ฮังการีได้กลายเป็นประเทศที่แตกแยก เกิดปัญหาการแย่งราชบัลลังก์ระหว่างเจ้าชายเฟอร์ดินานด์ [Ferdinand ต่อมาเฉลิมพระนามว่าจักรพรรดิเฟอร์ดินานด์ที่ ๑ (ค.ศ. ๑๕๕๘-๑๕๖๔) แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ]ซึ่งเป็นพระสวามีในพระขนิษฐาของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๒ กับยานอส ซาปอลยา (JánosZápolya) ที่ขุนนางฮังการีสนับสนุนให้เป็นกษัตริย์ใน ค.ศ. ๑๕๒๖ ปัญหาภายในดังกล่าวจึงเปิดโอกาสให้พวกเติร์กซึ่งมีสุลต่านสุไลมาน (Sultan Suleiman) เป็นผู้นำยกกองทัพเข้ายึดครองกรุงบูดาและตอนกลางของราชอาณาจักรใน ค.ศ. ๑๕๔๑พระเจ้าเฟอร์ดินานด์ซึ่งได้รับสถาปนาเป็นกษัตริย์ด้วย ใน ค.ศ. ๑๕๒๗ ได้ปกครองมณฑลบางส่วนในภาคตะวันตกและภาคเหนือของราชอาณาจักร ส่วนราชวงศ์ซาปอลยา (Zápolya) ได้ครอบครองดินแดนในภาคตะวันออกและทรานซิลเวเนีย
     ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗พวกเติร์กเริ่มอ่อนแอลงเป็นลำดับ ใน ค.ศ. ๑๖๘๓จักรพรรดิเลโอโปลด์ที่ ๑ (Leopold I ค.ศ. ๑๖๕๘-๑๗๐๕) แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งทรงดำรงพระอิสริยยศกษัตริย์แห่งฮังการีสามารถรบชนะพวกเติร์กที่เข้าโจมตีกรุงเวียนนา และต่อมาใน ค.ศ. ๑๖๘๖ ก็สามารถขับไล่พวกเติร์กที่ยึดครองกรุงบูดาเป็นเวลาเกือบ ๑๕๐ ปีได้สำเร็จ ใน ค.ศ. ๑๖๙๙พวกเติร์กถูกบังคับให้ทำสนธิสัญญาคาร์โลวิทซ์ (Treaty of Karlowitz) โดยยินยอมถอนตัวออกจากการยึดครองฮังการียกเว้นในบริเวณแม่น้ำบานาต (Banat) และบริเวณระหว่างแม่น้ำมารอส(Maros) ทิสซอ (Tisza) กับดานูบ ต่อมาพวกเติร์กก็สูญเสียดินแดนที่มั่นดังกล่าวทั้งหมดใน ค.ศ. ๑๗๑๙อย่างไรก็ดีอิทธิพลต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งร่องรอยของศิลปกรรมอิสลามก็ยังคงหลงเหลือจนกระทั่งปัจจุบันนี้
     นอกจากนี้ ใน ค.ศ. ๑๖๘๗ จักรพรรดิเลโอโปลด์ที่ ๑ยังได้รับฉันทานุมัติจากสภาขุนนางฮังการีในสิทธิการสืบสันตติวงศ์ของราชวงศ์ฮับส์บูร์กในราชบัลลังก์ฮังการีอีกด้วย โดยพวกขุนนางยินยอมยกเลิกบทบัญญัติในพระราชโองการสารตราทอง ซึ่งให้สิทธิพวกขุนนางในการยับยั้งผู้หนึ่งผู้ใดในการเสด็จขึ้นครองราชสมบัติต่อมาใน ค.ศ. ๑๖๙๑ การสถาปนาอำนาจการปกครองของราชวงศ์ฮับส์บูร์กในฮังการีก็มั่นคงยิ่งขึ้นเมื่อทรานซิลเวเนียต้องสูญเสียอำนาจอิสระในการปกครองตนเองโดยต้องขึ้นตรงต่อกรุงเวียนนา
     หลังจากได้อำนาจปกครองฮังการีอย่างสมบูรณ์แล้ว ออสเตรีย ได้ใช้มาตรการเข้มงวดกับขุนนาง ชาวนา และข้าติดที่ดินฮังการี พวกที่หันไปนับถือคริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนต์ถูกนำไปประหารชีวิต ที่ดินของขุนนางที่ถูกกล่าวหาว่าทรยศหรือไม่สามารถพิสูจน์กรรมสิทธิ์ ได้ก็จะถูกยึดและพระราชทานให้แก่ขุนนางและทหารออสเตรีย นอกจากนี้ ยังมีการจัดเก็บภาษีในอัตราสูงซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชนทุกชั้นอีกด้วยดังนั้น ใน ค.ศ. ๑๗๐๓ เฟอเรนซ์ ราโคซีที่ ๒(Ferenc Rákoczi II) เจ้าชายแห่งทรานซิลเวเนียจึงถือโอกาสที่ออสเตรีย เข้าสู่สงครามการสืบราชบัลลังก์สเปน (War of the Spanish Succession ค.ศ. ๑๗๐๑-๑๗๑๔) กับฝรั่งเศส ก่อกบฏขึ้น การลุกฮือของชาวฮังการีเพื่อปลดแอกตนเองให้เป็นอิสระจากออสเตรีย ดังกล่าวโดยได้รับการสนับสนุนจากพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔(Louis XIV) แห่งฝรั่งเศส ได้ดำเนินติดต่อกันเป็นเวลา ๘ ปี จนกระทั่งจักรพรรดิชาลส์ที่ ๖ (Charles VI ค.ศ. ๑๗๑๑-๑๗๔๐) หรืออีกพระอิสริยยศคือพระเจ้าชาลส์ที่ ๓(Charles III ค.ศ. ๑๗๑๑-๑๗๔๐) แห่งฮังการี ทรงยินยอมประนีประนอมทำสนธิสัญญาสงบศึกที่กำหนดให้มีการนิรโทษกรรม เสรีภาพในการนับถือศาสนา ตลอดจนสิทธิทางการเมืองและการปกครองแก่ชาวฮังการี นับแต่นั้นเป็นต้นมาจนสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ความสัมพันธ์โดยทั่วไประหว่างราชวงศ์ฮับส์บูร์กกับฮังการีก็ดำเนินไปด้วยดีในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะกับขุนนางฮังการีที่หันมาสวามิภักดิ์ กับราชวงศ์ฮับส์บูร์กมากขึ้น ในสงครามการสืบราชบัลลังก์ออสเตรีย (War of theAustrian Succession ค.ศ. ๑๗๔๐-๑๗๔๘) ขุนนางฮังการีได้แสดงความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระราชินีนาถมาเรีย เทเรซา (Maria Theresa ค.ศ. ๑๗๔๐-๑๗๘๐) ในการร่วมกับกองทัพออสเตรีย ทำสงครามกับปรัสเซีย เพื่อปกป้องสิทธิของสมเด็จพระราชินีนาถมาเรีย เทเรซาในการรักษาสิทธิในการสืบทอดราชสมบัติของราชวงศ์ฮับส์บูร์กตามข้อตกลงในพระราชกฤษฎีกา (Pragmatic Sanction) ค.ศ. ๑๗๑๓ แทนการฉวยโอกาสก่อกบฏและแยกตัวเป็นอิสระจากการปกครองของราชวงศ์ฮับส์บูร์กความสัมพันธ์อันดีดังกล่าวนี้จึงทำให้การปกครองของราชวงศ์ฮับส์บูร์กในฮังการีเป็นไปอย่างผ่อนปรน
     ตลอดระยะเวลา ๔๐ ปีในรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถมาเรีย เทเรซาซึ่งได้รับยกย่องว่าเป็น “กษัตริย์ภูมิธรรม” (enlightened despot) องค์หนึ่งของยุโรปในยุคภูมิธรรม (Age of Enlightenment) พระองค์ทรงเรียกประชุมรัฐสภา(diet) เพียง ๓ ครั้งเท่านั้น โดยปล่อยให้ขุนนางฮังการีมีอิสระในการปกครองตนเองในระดับหนึ่ง และได้รับการยกเว้นภาษีด้วย เมืองเปสต์กลายเป็นศูนย์กลางของการค้าที่ดึงดูดนักลงทุนชาวเซิร์บและชาวยิว แต่ขณะเดียวกันชาวแมกยาร์ก็เริ่มสูญเสียเอกลักษณ์เฉพาะตัว ภาษาแมกยาร์ไม่เป็นที่นิยมพูดของชาวเมืองที่มีการศึกษาและโดยเฉพาะพวกขุนนางซึ่งต่างหันไปนิยมใช้ภาษาเยอรมัน (และฝรั่งเศส ) ในการสื่อสารกันและทำธุรกิจ ส่วนพวกคหบดี (magnates) ก็ถูกกลืนเข้าเป็นพวกราชสำนักที่อุทิศตนแก่พระราชวงศ์และเริ่มห่างเหินจากชาวบ้านมากขึ้น
     ในรัชสมัยของจักรพรรดิโจเซฟที่ ๒ (Joseph II ฮังการีค.ศ. ๑๗๘๐-๑๗๙๐,จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ค.ศ. ๑๗๖๕-๑๗๙๐) ได้มีความพยายามที่จะทำลายวัฒนธรรมและการปกครองท้องถิ่นของฮังการี โดยจักรพรรดิโจเซฟที่ ๒ ทรงปฏิเสธที่จะประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามพระราชประเพณีฮังการีเนื่องจากไม่ต้องการที่จะพระราชทานคำปฏิญาณต่อรัฐสภาฮังการีตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญที่กษัตริย์จะต้องเคารพในสิทธิเสรีภาพของขุนนางพระองค์ทรงแต่งตั้งข้าราชการและผู้ใกล้ชิดไปกำกับดู แลหน่วยงานอิสระต่าง ๆ ทรงเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบกระจายอำนาจเป็นการรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง ทรงลิดรอนอำนาจของขุนนางในการปกครองดู แลพวกชาวนาและเตรียมออกกฎหมายการเก็บภาษีที่ดินเพื่อนำไปใช้กับพวกขุนนาง นอกจากนี้ จักรพรรดิโจเซฟที่ ๒ยังทรงใช้นโยบายทำฮังการีให้เป็นเยอรมัน (Germanization) โดยทรงออกพระราชบัญญัติให้ใช้ภาษาเยอรมันเป็นภาษาทางราชการและราชสำนัก และใช้ในการศึกษาที่ระดับสูงกว่าประถมศึกษา จึงทำให้ชาวฮังการีไม่พอใจและยังทำให้เกิดความเกลียดชังและสร้างแรงต่อต้านราชวงศ์ฮับส์บูร์กอีกด้วย
     อย่างไรก็ดีการสวรรคตของจักรพรรดิโจเซฟที่ ๒ ใน ค.ศ. ๑๗๙๐ ก็ช่วยบรรเทาความไม่พอใจของชาวฮังการีและวิกฤตการณ์ภายในได้ระยะหนึ่ง จักรพรรดิเลโอโปลด์ที่ ๒ (Loeopold II ค.ศ. ๑๗๙๐-๑๗๙๒) ทรงพยายามประนีประนอมกับขุนนางฮังการี โดยเสด็จมาประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกและพระราชทานคำปฏิญาณที่จะเคารพกฎหมายฮังการีและปกครองตามรัฐธรรมนูญฮังการีอีกทั้งยังโปรดให้ฟื้นฟูหน่วยงานอิสระต่าง ๆ และนำภาษาละตินกลับมาใช้เป็นภาษาราชการอีกครั้ง อีกทั้งยังทรงสัญญาว่าจะดำเนินการปฏิรูปฮังการีในด้านต่าง ๆอีกด้วย
     ขณะเดียวกัน การแพร่ขยายของลัทธิเสรีนิยม (liberalism) และชาตินิยม(nationalism) ที่เป็นผลจากการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ (French Revolution1789) กลับเพิ่มแรงการต่อต้านราชวงศ์ฮับส์บูร์กและออสเตรีย ให้แก่ชาวฮังการีนอกจากนี้ กษัตริย์พระองค์ใหม่คือจักรพรรดิฟรานซิสที่ ๒ (Francis II ค.ศ. ๑๗๙๒-๑๘๐๖) แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ [ต่อมาสถาปนาพระอิสริยยศเป็นจักรพรรดิฟรานซิสที่ ๑ (Francis I ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๓๕) แห่งจักรวรรดิออสเตรีย (AustrianEmpire)]ยังทรงดำเนินนโยบายอนุรักษนิยมกับฮังการีโดยยึดถือนโยบายการรักษาสถานะเดิม (status quo) และต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสังคมและการเมืองทุกรูปแบบแม้ขณะนั้นสถานการณ์ในฮังการีจะอบอวลไปด้วยกระแสการเรียกร้องการปฏิรูปต่าง ๆ แต่จักรพรรดิฟรานซิสที่ ๒ กลับแทบไม่เรียกประชุมรัฐสภาเพื่อแก้ไขกฎหมายที่จะให้สิทธิเสรีภาพและอำนาจการปกครองแก่ประชาชนตามข้อเรียกร้อง
     ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๒๕-๑๘๔๘ เป็นช่วงระยะเวลาที่ชาวฮังการีทุกชนชั้นได้ถูกปลุกเร้าให้มีิจตสำนึกทางการเมืองและเสรีภาพมากที่สุด ทั้งนี้เป็นผลกระทบจากการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๓๐ (Revolution of 1830) ที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศส และแพร่กระจายไปยังประเทศต่าง ๆ ในฮังการีพวกขุนนางหัวก้าวหน้าก็ร่วมมือกับปัญญาชน(intelligentsia) นักการเมือง นักเขียน และบุคคลในอาชีพต่าง ๆ เช่น เคานต์อิชต์วาน เซเชนยี (IstvánืSz”chenyi) โยเซฟ เอิตเวิช (József Eötvös) เฟอเรนซ์ เดอัก(Ferenc D”ak) ลายอช คอชุท (Lajos Kossuth) และลายอช บาทยานี (LajosBatthyány) ที่ต่างใช้ปากกาเป็นอาวุธเพื่อเรียกร้องการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองในฮังการีรวมทั้งอิสรภาพจากการปกครองของออสเตรีย
     เมื่อเกิดการปฏิวัติค.ศ. ๑๘๔๘ (Revolutions of 1848) ในเดือนมีนาคมซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อกรุงเวียนนาโดยทำให้ปัญญาชนรวมตัวกันก่อการจลาจลเพื่อเรียกร้องเสรีภาพและการปฏิรูปต่าง ๆ จนเจ้าชายเคลเมนส์ ฟอน เมทเทอร์นิช(Klemens Fürst von Metternich)อัครเสนาบดีผู้มีแนวคิดปฏิกิิรยาต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งนั้น คอชุทซึ่งมีบทบาทสูงทางการเมืองจึงเห็นเป็นโอกาสที่จะให้รัฐสภาฮังการีประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนและดำเนินนโยบายการปฏิรูปต่างๆ ด้วย รวมทั้งให้ฮังการีมีอำนาจปกครองตนเองโดยสมบูรณ์ ในระยะแรก ๆ กบฏในฮังการีประสบความสำเร็จโดยรัฐบาลออสเตรีย ยอมรับแผนการปฏิรูปต่าง ๆ อย่างไรก็ดีใน ค.ศ. ๑๘๔๙ออสเตรีย ซึ่งมีจักรพรรดิพระองค์ใหม่คือจักรพรรดิฟรานซิส โจเซฟ (Francis Joseph ค.ศ. ๑๘๔๘-๑๙๑๖) กลับเป็นฝ่ายรุกและเข้าปราบปรามฝ่ายกบฏเพื่อล้มล้างระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐที่จัดตั้งขึ้น ทั้งนี้โดยได้รับความช่วยเหลือจากกองทัพโครเอเชีย (Croatia) ที่ก่อกบฏต่อฮังการีและความช่วยเหลือจากกองทัพรัสเซีย ฮังการีจึงปราชัยและสงครามปลดแอกตนเองออกจากอำนาจและอิทธิพลของออสเตรีย จึงสิ้นสุดลง คอชุทพร้อมทหารจำนวนหลายพันคนสามารถหนีข้ามพรมแดนไปยังจักรวรรดิออตโตมัน(Ottoman Empire) หรือตุรกีได้ในวันที่ ๑๗ สิงหาคม ค.ศ. ๑๘๔๙ ส่วนผู้ที่ถูกทหารออสเตรีย จับตัวได้ก็ถูกทรมานและฆ่าตายอย่างทารุณ
     ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเป็นเวลากว่า ๒ ทศวรรษฮังการีต้องตกอยู่ใต้การปกครองที่กดขี่และเข้มงวดของรัฐบาลอนุรักษนิยมของออสเตรีย แต่เมื่อออสเตรีย ทำสงครามเจ็ดสัปดาห์ (Seven Weeksû War ค.ศ. ๑๘๖๖)พ่ายแพ้แก่ปรัสเซีย ที่มีเจ้าชายออทโท ฟอน บิสมาร์ค (Otto von Bismarck) เป็นอัครเสนาบดีและผู้วางแผนการรบเพื่อรวมชาติเยอรมัน ออสเตรีย ต้องสูญเสียอำนาจและความเป็นผู้นำในดินแดนเยอรมัน อีกทั้งยังถูกขับออกจากสหพันธรัฐเยอรมัน (GermanConfederation)อย่างถาวรอีกด้วย จักรพรรดิฟรานซิส โจเซฟจึงจำเป็นต้องหันมาปรับปรุงความสัมพันธ์กับฮังการีซึ่งเป็นดินแดนที่เป็นกลุ่มเชื้อชาติใหญ่เป็นอันดับ ๒ในจักรวรรดิและทำการปฏิรูปการปกครองภายในเพื่อป้องกันการแตกสลายของจักรวรรดิออสเตรีย ซึ่งนำไปสู่การลงนามในความตกลงประนีประนอมออสเตรีย -ฮังการีหรือเอาส์ไกลค์ (Ausgleich) ระหว่างราชอาณาจักรทั้งสองใน ค.ศ. ๑๘๖๗โดยการสร้างระบอบราชาธิปไตยคู่ (Dual Monarchy) ขึ้น ยกฐานะฮังการีเป็นราชอาณาจักรอิสระในระดับหนึ่งและต่างมีรัฐธรรมนูญที่แยกจากกัน โดยหลักการนี้จักรพรรดิฟรานซิส โจเซฟทรงดำรงพระอิสริยยศจักรพรรดิแห่งออสเตรีย และกษัตริย์แห่งฮังการีซึ่งที่มีหน้าที่บริหารประเทศโดยคำนึงถึงปัญหาและผลประโยชน์ของประเทศนั้น ๆ แต่รัฐบาลจักรวรรดิยังคงมีอำนาจในการควบคุมกองทัพ นโยบายการคลัง และการต่างประเทศของฮังการีอยู่ แม้ว่าความตกลงประนีประนอมออสเตรีย -ฮังการีดังกล่าวจะไม่ทำให้ฮังการีมีอำนาจอธิปไตยอย่างสมบูรณ์ แต่ก็ช่วยลดแรงต่อต้านของชาวฮังการีที่มีต่อจักรวรรดิออสเตรีย ลงได้และยอมอยู่ใต้อำนาจของราชวงศ์ฮับส์บูร์กจนถึงสิ้นสงครามโลกครั้งที่ ๑ ใน ค.ศ. ๑๙๑๘ เมื่อจักรวรรดิออสเตรีย -ฮังการี(Austria-Hungary) ต้องสลายตัวลง แต่ในช่วงระยะเวลาที่ฮังการีปกครองในระบอบราชาธิปไตยคู่ดังกล่าวนี้ ฮังการีได้เจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็วและกลายเป็นประเทศทุนนิยมที่รัฐบาลให้ความสนใจต่อการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ อย่างจริงจัง เช่น ด้านการอุตสาหกรรม การศึกษา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลปวัฒนธรรมที่เป็นคู่แข่งสำคัญของกรุงเวียนนา ใน ค.ศ. ๑๘๗๓กรุงบูดาได้ขยายขอบเขตของนครหลวงโดยรวมเอาเมืองเปสต์ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำดานูบเข้าด้วยกันและมีชื่อเรียกใหม่ว่ากรุงบูดาเปสต์ ซึ่งในทศวรรษ ๑๘๙๐เป็นนครหลวงที่เจริญเติบโตรวดเร็วที่สุดและมีนักเดินทางมาท่องเที่ยวมากที่สุดแห่งหนึ่งของยุโรป สถานีรถไฟบนฝั่งเปสต์ก็เป็นศูนย์กลางของระบบรถไฟสายใหม่ที่มีเส้นทางเชื่อมต่อกันไปทั่วจักรวรรดิออสเตรีย -ฮังการี
     อย่างไรก็ดี การผูกพันกับออสเตรีย ในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศร่วมกันได้นำฮังการีไปสู่ปัญหาและความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศสนธิสัญญาพันธไมตรีทวิภาคี ค.ศ. ๑๘๗๙ (Dual Alliance 1879) ระหว่างจักรวรรดิออสเตรีย -ฮังการีกับจักรวรรดิเยอรมัน (German Empire) เป็นจุดเริ่มต้นของการแบ่งค่ายของมหาอำนาจยุโรป ที่ทำให้มหาอำนาจอื่นอันได้แก่ฝรั่งเศส และรัสเซีย คิดจัดตั้งสนธิสัญญาพันธไมตรีในทำนองเดียวกันคือสนธิสัญญาพันธไมตรีทวิภาคีค.ศ. ๑๘๙๔ (Dual Alliance 1894) ซึ่งต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๐๗ ได้ขยายตัวเป็นความตกลงไตรภาคี (Triple Entente) โดยมีอังกฤษเข้าร่วมเป็นพันธมิตรด้วยการแบ่งค่ายและการสร้างสมานฉันท์อันแนบแน่นระหว่างออสเตรีย -ฮังการีกับเยอรมนี ก็ทำให้ออสเตรีย ดำเนินนโยบายทางการทูตอย่างฮึกเหิม โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการณ์การลอบปลงพระชนม์อาร์ชดุ็กฟรานซิส เฟอร์ดินานด์ (FrancisFerdinand) รัชทายาทจักรวรรดิออสเตรีย -ฮังการีโดยชาวเซิร์บชาตินิยมหัวรุนแรงณ กรุงซาราเยโว (Sarajevo) ในบอสเนีย (Bosnia) ใน ค.ศ. ๑๙๑๔ออสเตรีย ซึ่งมั่นใจในระบบพันธมิตรของตนจึงยกเอาวิกฤตการณ์ดังกล่าวนี้เป็นข้ออ้างเพื่อเข้าปราบปรามการเคลื่อนไหวของพวกสลาฟในเซอร์เบีย ที่สนับสนุนขบวนการชาตินิยมสลาฟในจักรวรรดิออสเตรีย -ฮังการีอันเป็นชนวนของสงครามโลกครั้งที่ ๑ และดึงเอาฮังการีเข้าสู่สงครามร่วมกับฝ่ายออสเตรีย และเยอรมนี ด้วย
     สงครามโลกครั้งที่ ๑ สิ้นสุดลงด้วยความปราชัยของออสเตรีย -ฮังการีและพันธมิตรซึ่งต้องยินยอมทำสนธิสัญญาสงบศึกกับฝ่ายสัมพันธมิตรเมื่อวันที่ ๑๑พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๘ ในวันเดียวกันนี้จักรพรรดิชาลส์ (Charles ค.ศ ๑๙๑๖-๑๙๑๘)ซึ่งเสด็จสืบราชสมบัติต่อจากจักรพรรดิฟรานซิส โจเซฟที่สวรรคตด้วยโรคชราใน ค.ศ. ๑๙๑๖ ก็ทรงสละพระราชอำนาจในออสเตรีย อีก ๒ วันต่อมาในฮังการีจึงนับเป็นสิ้นสุดอำนาจของราชวงศ์ฮับส์บูร์กที่ปกครองฮังการีมาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ ในวันที่ ๑๖พฤศจิกายน ฮังการีได้ประกาศเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นสาธารณรัฐและเรียกชื่อประเทศว่าสาธารณรัฐประชาธิปไตยฮังการี(Hungarian Democratic Republic) โดยมีเคานต์มีไฮลย์ คารอลยี (MihályKárolyi) เป็นประธานาธิบดีคนแรก แต่รัฐบาลใหม่ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื้อรังทางการเมืองและสังคมได้ ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๙ จึงถูกโค่นล้มโดยพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งมีเบลา คุน (B”la Kun) เป็นผู้นำ พรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งมีเสียงข้างมากได้ร่วมกับพรรคสังคมประชาธิปไตยจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นปกครองประเทศโดยยึดแนวทางสังคมนิยมตามแบบสหภาพโซเวียต ต่อมา คุนประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นสาธารณรัฐโซเวียตฮังการี (Hungarian Soviet Republic) เมื่อวันที่ ๒๑มีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๙ แต่สาธารณรัฐโซเวียตฮังการีก็ขาดเสถียรภาพทางการเมืองเพราะรัฐบาลดำเนินนโยบายผิดพลาดเรื่องการจัดสรรที่ดินและมักประนีประนอมกับพวกนายทุน ประชาชนซึ่งคาดหวังการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นทางเศรษฐกิจและสังคมจึงเริ่มต่อต้านรัฐบาลเพราะไม่พอใจต่อสภาวะบีบคั้นทางเศรษฐกิจ ปัญหาเงินเฟ้อการปันส่วนอาหารและอื่น ๆ ความวุ่นวายทางการเมืองและสังคมในฮังการีทำให้โรมาเนีย เห็นเป็นโอกาสบุกยึดครองทรานซิลเวเนีย กลุ่มชาตินิยมฝ่ายขวาจึงลุกฮือล้มอำนาจรัฐบาลคอมมิวนิสต์ได้ในวันที่ ๑ สิงหาคม เบลา คุนหนีีล้ภัยไปออสเตรีย อีก ๓ วันต่อมา กรุงบูดาเปสต์ก็ถูกกองทัพโรมาเนีย เข้ายึดครองจนถึงกลางเดือนพฤศจิกายน
     ต่อมาประเทศสัมพันธมิตรได้เข้ามาดูแลฮังการี และได้มีการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้นในวันที่ ๒๕พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๙ ในต้นปี ต่อมาก็มีการเลือกตั้งทั่วไปหลังการเลือกตั้ง รัฐสภาฮังการีได้ประกาศยกเลิกข้อผูกพันทางกฎหมายทั้งหมดระหว่างฮังการีกับออสเตรีย อย่างเป็นทางการ อีกทั้งสถาปนาระบอบการปกครองแบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญโดยแต่งตั้งให้พลเรือเอก มิคโลช ฮอร์ทีเด นอจบานยา(Miklós Horthy de Nagybánya) ผู้มีบทบาทในการต่อต้านการปฏิวัติเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน (regent) แทนตำแหน่งพระมหากษัตริย์ และเคานต์สตีเฟน เบทเลน(Stephen Bethlen) เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมา รัฐบาลฮังการีในฐานะผู้แทนของประเทศแพ้สงครามได้ทำสนธิสัญญาตรียานง (Treaty of Trianon) กับฝ่ายสัมพันธมิตรเมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๒๐ โดยสูญเสียดินแดนที่ครอบครองร้อยละ ๗๒ ให้แก่เชโกสโลวะเกีย โรมาเนีย และยูโกสลาเวีย รวมทั้งประชากรอีกร้อยละ ๖๔ด้วย เพื่อแลกกับอำนาจอธิปไตยอย่างสมบูรณ์ ใน ค.ศ. ๑๙๒๑ จักรพรรดิชาลส์ทรงลอบเดินทางเข้าฮังการี๒ ครั้ง เพื่อฟื้นฟูอำนาจของราชวงศ์ฮับส์บูร์กและอ้างสิทธิในราชบัลลังก์ฮังการีแต่ถูกประเทศสัมพันธมิตรจับได้และเนรเทศ จึงทำให้ความหวังของราชวงศ์ฮับส์บูร์กที่จะปกครองฮังการีอีกเป็นอันสิ้นสุดลงไปด้วย
     ในทศวรรษ ๑๙๓๐ และโดยเฉพาะระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๒-๑๙๓๖ ที่ยูลาฟอน เกิมเบิช (Gyula von Gömbös) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น ฮังการีได้ดำเนินนโยบายการต่างประเทศที่ก้าวร้าวกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยหวังจะได้รับดินแดนที่สูญเสียไปตามสนธิสัญญาตรียานงกลับคืนมา นโยบายดังกล่าวนี้ทำให้ฮังการีมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับอิตาลี และเยอรมนี ซึ่งยึดถือลัทธิฟาสซิสต์(Fascism) และลัทธินาซี (Nazism) ในการปกครอง ต่อมาในปลาย ค.ศ. ๑๙๓๘หลังจากอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ผู้นำเยอรมนี เข้ายึดครองซู เดเทนลันด์(Sudetenland) แล้ว เขาก็สนับสนุนให้ฮังการียึดดินแดนทางตอนใต้ของเชโกสโลวะเกียรวมทั้งเห็นชอบให้มีการจัดแบ่งดินแดนบางส่วนของสโลวะเกียและรูทีเนีย (Ruthenia)ให้แก่ฮังการีด้วย ฮังการีจึงถอนตัวออกจากสันนิบาตชาติ(League of Nations) และต่อมาในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๓๙ ฮังการีก็ได้ลงนามในสนธิสัญญาเป็นพันธมิตรกับเยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่นเพื่อต่อต้านการขยายอำนาจและอิทธิพลขององค์การคอมมิวนิสต์สากลหรือโคมินเทิร์น (Comintern) ของสหภาพโซเวียต
     เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ฮังการีได้วางตนเป็นกลางแต่เอนเอียงเข้ากับฝ่ายมหาอำนาจอักษะ (Axis Power) ใน ค.ศ. ๑๙๔๐ เยอรมนี และอิตาลี จึงตอบแทนฮังการีโดยยกดินแดนบางส่วนของโรมาเนีย ตอนเหนือให้ ต่อมาในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๔๑ ขณะที่กองทัพเยอรมันโจมตียูโกสลาเวีย ฮังการีถือโอกาสส่งกองทหารเข้ายึดดินแดนในยูโกสลาเวียที่ฮังการีได้สูญเสียไปตามสนธิสัญญาตรียานงต่อมาในวันที่ ๒๗ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๑ ฮังการีประกาศสงครามกับสหภาพโซเวียตและส่งกองทัพสนับสนุนกองทัพเยอรมันในแนวรบด้านตะวันออกกับสหภาพโซเวียตแต่ได้รับความเสียหายอย่างหนักจนรัฐบาลฮังการีพยายามจะเจรจาขอสงบศึกกับฝ่ายพันธมิตรดังนั้นกองทัพเยอรมันที่ประจำการในฮังการีจึงเข้ายึดครองฮังการีเมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๔พลเรือเอก ฮอร์ทีเด นอจบานยา ผู้สำเร็จราชการถูกคุมขัง รัฐบาลนาซีถูกจัดตั้งขึ้นและชาวฮังการีเชื้อสายยิวกว่า ๕๐๐,๐๐๐ คนถูกกวาดต้อนไปคุมขังในค่ายกักกัน (Concentration Camp) ในเยอรมนี ฮังการีต้องผจญกับการปกครองที่เข้มงวดของเยอรมนี และการโจมตีอย่างหนักของฝ่ายพันธมิตรเป็นเวลากว่า ๑ ปี จนกระทั่งกองทัพสหภาพโซเวียตสามารถยึดครองฮังการีได้เมื่อวันที่ ๔ เมษายน ค.ศ. ๑๙๔๕
     นับแต่นั้นฮังการีก็ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสหภาพโซเวียต คณะรัฐบาลชั่วคราวได้ถูกจัดตั้งขึ้น และดำเนินการปฏิรูปที่ดินในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ โดยยึดที่ดินทั้งหมดของขุนนางและธรณีสงฆ์ มีการจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นใหม่ซึ่งเป็นพรรคที่มีอิทธิพลมากที่สุดในประเทศ อย่างไรก็ดี ในการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ ๔พฤศจิกายนพรรคเจ้าของที่ดินรายย่อย (Small Landownersû Party) ซึ่งมีเฟอเรนซ์ นอจ (Ference Nagy) เป็นผู้นำกลับได้รับชัยชนะ รัฐบาลผสมถูกจัดตั้งขึ้นโดยมีนอจเป็นประธานาธิบดี และมัตยัช ราโคซี (Mátyás Rákosi) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ฮังการีเป็นรองประธานาธิบดีในวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๖รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศยุบระบอบการปกครองแบบราชาธิปไตยของฮังการีซึ่งมีอายุเก่าแก่เกือบ ๑,๐๐๐ ปี ในเดือนเดียวกันนั้น ที่ประชุมสันติภาพแห่งกรุงปารีส(Paris Peace Conference) ตกลงยืนยันเส้นแบ่งเขตแดนตามสนธิสัญญาตรียานงและฮังการีก็ถูกบังคับให้จ่ายเงินค่าปฏิกรรมสงครามแก่สหภาพโซเวียตยูโกสลาเวียและเชโกสโลวะเกีย
     การก้าวเข้ามามีอำนาจของพรรคเจ้าของที่ดินรายย่อยได้สร้างความไม่พอใจให้แก่พรรคคอมมิวนิสต์เป็นอันมาก ในไม่ช้าสมาชิกของพรรคเจ้าของที่ดินรายย่อยรวมทั้งพรรคสมาพันธรัฐชาวนา (Peasant Federation Party) ก็ถูกจับกุมนายกรัฐมนตรีนอจพยายามขอความช่วยเหลือไปยังมหาอำนาจตะวันตก แต่ล้มเหลวและเขาถูกบังคับให้ีล้ภัยออกนอกประเทศ นับแต่นั้นเป็นต้นไป ฮังการีก็ตกอยู่ในอำนาจของฝ่ายคอมมิวนิสต์อย่างเด็ดขาด
     หลังจากกำจัดคู่แข่งขันสำคัญ ๆ ทางการเมืองแล้ว พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democratsû Party) ของฮังการีก็ถูกบีบบังคับให้มารวมตัวกับพรรคคอมมิวนิสต์ และจัดตั้งเป็นพรรคสหภาพแรงงาน (United Workersû Party)พรรคสหภาพแรงงานจึงกลายเป็นพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวที่ลงเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๙ ในเดือนสิงหาคม รัฐสภาได้ประกาศรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งใช้รัฐธรรมนูญสหภาพโซเวียตเป็นต้นแบบ และสถาปนาฮังการีเป็นสาธารณรัฐประชาชนฮังการี(Hungarian Peopleûs Republic) รัฐบาลคอมมิวนิสต์ได้ฟื้นฟู เศรษฐกิจของประเทศโดยมีการวางแผนเศรษฐกิจระยะยาวเช่นเดียวกับสหภาพโซเวียต เข้าควบคุมกิจการธนาคารและธุรกิจขนาดใหญ่ ยึดกรรมสิทธิ์ ที่ดินและจัดตั้งสหกรณ์สำหรับพัฒนาผลผลิตการเกษตร ราโคซีรองประธานาธิบดีในคณะรัฐบาลของนอจซึ่งเป็นผู้นิยมลัทธิสตาลิน (Stalinism) ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำสูงสุดและใช้อำนาจปกครองอย่างเข้มงวด เขาได้ใช้ตำรวจลับในการสอดส่องดู แลและกำจัดฝ่ายตรงข้ามและผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายปกครองของเขา
     หลังจากโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) ผู้นำสหภาพโซเวียตถึงแก่อสัญกรรมใน ค.ศ. ๑๙๕๓ และนีกีตา ครุชชอฟ (Nikita Khruchschev) ขึ้นสืบอำนาจแทน ครุชชอฟได้เริ่มนโยบายการล้มล้างอิทธิพลสตาลิน (De-stalinization)นโยบายดังกล่าวนี้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทั้งภายในและภายนอกสหภาพโซเวียต ราโคซีจึงหมดอำนาจ และตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตกเป็นของอิมเร นอจ (Imre Nagy) ส่วนราโคซีดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เพียงตำแหน่งเดียว นอจดำเนินนโยบายการปกครองทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอย่างผ่อนปรน ชาวนาร้อยละกว่า ๕๐ สามารถถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกองค์กรนารวม (Collective farms) นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมากขึ้น ส่วนนักโทษทางการเมืองก็ได้รับนิรโทษกรรม
     อย่างไรก็ดี แม้ในระยะเวลาดังกล่าวนี้ฮังการีจะได้รับสิทธิเสรีภาพมากขึ้นรวมทั้งผลิตผลทางการเกษตรและการบริโภคมีปริมาณเพิ่มขึ้น แต่ชาวฮังการีจำนวนมากต่างไม่พอใจที่จะต้องอยู่ภายใต้ร่มเงาการปกครองของสหภาพโซเวียตบรรดาปัญญาชนและนักเขียนเริ่มรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องอำนาจอธิปไตยทางการเมืองและความเป็นอิสระจากสหภาพโซเวียตดังนั้น การเคลื่อนไหวของชาวฮังการีดังกล่าวกอปรกับความล้มเหลวในการดำเนินนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของสหภาพโซเวียต อิมเร นอจจึงถูกปลดออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๕๕ และถูกขับออกจากพรรค กลุ่มของราโคซีที่นิยมรัสเซีย จึงกลับมามีอำนาจอีกครั้ง และดำเนินการกวาดล้างสมาชิกพรรคที่มีแนวคิดเสรี รวม๔๐๐ คน ทั้งจับกุมนอจด้วยข้อหาต่อต้านพรรค การพยายามรื้อฟื้นระบอบสตาลินมาบริหารประเทศได้นำไปสู่การเคลื่อนไหวต่อต้านของประชาชนซึ่งเรียกร้องการสร้างสังคมนิยมที่มีมนุษยธรรมและให้นอจกลับมาบริหารประเทศอีก ข่าวความสำเร็จของวลาดิสลาฟโกมุลกา (Wladyslaw gomulka) ผู้นำโปแลนด์ ในการประท้วงพรรคคอมมิวนิสต์ได้สร้างแรงบันดาลใจแก่ชาวฮังการี กระแสการต่อต้านรัฐบาล และพรรคคอมมิวนิสต์จึงเริ่มพัฒนาเป็นความรู้สึกรักชาติ และการต่อต้านสหภาพโซเวียตจนกลายเป็นการลุกฮือของชาวฮังการี ค.ศ. ๑๙๕๖ (Hungarian Uprising 1956)ทำให้มีการจัดตั้งคณะรัฐบาลใหม่โดย อิมเร นอจได้กลับมามีอำนาจอีกครั้ง นอจประกาศยุบเลิกตำรวจลับและสัญญาจะปฏิรูปการเมืองที่ประกอบด้วยพรรคการเมืองหลายพรรค รวมทั้งถอนตัวจากการเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอสหภาพโซเวียตเคลื่อนกำลังเข้าประจำการบริเวณพื้นที่ที่สำคัญของประเทศ และยึดครองพื้นที่รอบนอกกรุงบูคาเปสต์และสนามบินฮังการีตอบโต้ด้วยการถอนตัวออกจากสมาชิกองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ (Warsaw Pact) และประกาศตัวเป็นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด อีกทั้งยังขอความช่วยเหลือไปยังมหาอำนาจตะวันตกรวมทั้งองค์การสหประชาชาติ(United Nations) แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะในขณะนั้นประเทศตะวันตกให้ความสำคัญกับวิกฤตการณ์คลองสุเอซมากกว่าปัญหาการเมืองในฮังการีในวันที่ ๔ พฤศจิกายน กองทัพรถถังโซเวียต ๒,๕๐๐ คันจึงบุกล้อมปราบประชาชนฮังการี และเข้าโจมตีกรุงบูดาเปสต์ การต่อสู้อย่างนองเลือดระหว่างชาวฮังการีกับกองกำลังโซเวียตดำเนินต่อไปเป็นเวลาอีกหลายวัน ในที่สุดการลุกฮือก็ถูกปราบปรามอย่างราบคาบ ประชากรฮังการีจำนวนมากถูกส่งไปค่ายกักกันแรงงาน(Collective Labor Camp) ในสหภาพโซเวียตและบ้างก็ถูกตัดสินประหารชีวิต ซึ่งรวมทั้งอิมเร นอจด้วย และมีชาวฮังการีกว่า ๒๐๐,๐๐๐ คน หนีข้ามพรมแดนออสเตรีย ไปตั้งรกรากยังประเทศตะวันตกและสหรัฐอเมริกา
     ยาโนช คาดาร์ (Janos Kádár) ประธานพรรคคอมมิวนิสต์ ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ นับแต่นั้นเป็นต้นมา ฮังการีก็เป็นรัฐบริวารที่มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับสหภาพโซเวียต ฮังการีกลับเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ และยึดถือนโยบายต่างประเทศตามสหภาพโซเวียตในการต่อต้านกลุ่มประเทศเสรีนิยมตะวันตกและประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ต่อมา ใน ค.ศ.๑๙๖๘ เมื่อเชโกสโลวะเกียเคลื่อนไหวปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตยซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่รู้จักกันดีว่า “ฤดูใบไม้ผลิแห่งกรุงปราก”(Praque Spring) สหภาพโซเวียตต่อต้านการเคลื่อนไหวดังกล่าวและส่งกองทัพบุกปราบปรามขบวนการประชาธิปไตยในเชโกสโลวะเกียในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๖๘ ฮังการีสนับสนุนสหภาพโซเวียตด้วยการส่งกองทหารเข้าร่วมบุกยึดครองกรุงปรากด้วย
     ส่วนนโยบายการปกครองภายใน คาดาร์พยายามรักษาอำนาจโดยการประนีประนอมกับฝ่ายตรงข้ามและประชาชนทั่วไป ใน ค.ศ. ๑๙๖๑ เขาได้ปรับทัศนคติของราโคซีที่ว่า “บุคคลใดที่ไม่สนับสนุนเราคือผู้ต่อต้านเรา”(Who is not forus, is against us) เป็น “บุคคลใดไม่ต่อต้านเราคือพวกเรา”(Who is not againstus, is with us) แต่พวกนิยมสตาลินหัวรุนแรงถูกปราบปราม มหาวิทยาลัยเปิดกว้างสำหรับบุคคลทั่วไป ปัญญาชนและนักเขียนสามารถแสดงความคิดเห็น ประชาชนได้รับเสรีภาพในการนับถือศาสนา นอกจากนี้ในกลางทศวรรษ ๑๙๖๐ คาดาร์ยังเริ่มนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจโดยการผ่อนปรนการควบคุมระบบเศรษฐกิจจากส่วนกลางด้วยการนำ “กลไกเศรษฐกิจใหม่”(New Economic Mechanism - NEM) มาใช้และอนุญาตให้บรรษัทต่างๆ สามารถบริหารงานเป็นเอกเทศมากขึ้น มุ่งเน้นการผลิตเพื่อการบริโภคและขยายการค้ากับต่างประเทศมากขึ้น ทั้งยังมีมาตรการแบ่งปันผลกำไรของบรรษัทแก่ฝ่ายบริหารและฝ่ายควบคุมงานด้วย นโยบายเศรษฐกิจดังกล่าวทำให้ฮังการีเริ่มเปลี่ยนโฉมหน้าจากประเทศเกษตรกรรมที่ล้าหลังเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ส่งออกสินค้าประเภทอุตสาหกรรมได้เป็นจำนวนมากและเป็นการแยกตัวออกจากระบบการควบคุมทางเศรษฐกิจของสหภาพโซเวียตอย่างค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนี้ ฮังการียังเจริญรุดหน้าในด้านศิลปวิทยาการแขนงต่าง ๆ รวมทั้งพัฒนาความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งองค์การยูเนสโก (UNESCO) จัดให้อยู่ในอันดับต้น ๆ ของกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก ส่วนในด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศฮังการีืร้อฟื้นความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศเสรีนิยมตะวันตกและประเทศอื่น ๆ รวมทั้งสหรัฐอเมริกาด้วย จนได้รับยกย่องเป็นประเทศยุโรปตะวันออกที่ดำเนินนโยบายการต่างประเทศที่เปิดกว้างมากกว่ารัฐบริวารโซเวียตอื่น ๆ
     ในกลางทศวรรษ ๑๙๘๐ เมื่อประธานาธิบดีมีฮาอิล กอร์บาชอฟ (MikhailGorbachev) ผู้นำสหภาพโซเวียตเริ่มนโยบาย “เปิด-ปรับ”(Glasnost-Perestroika)เพื่อปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตยทุก ๆ ด้าน นโยบายดังกล่าวจึงเปิดโอกาสให้กลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกเคลื่อนไหวแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียตและเรียกร้องการปฏิรูปทางการเมืองภายในประเทศ จนนำไปสู่การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๘๙ในประเทศยุโรปตะวันออกต่างๆ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เรียกกันทั่วไปว่า ฤดูใบไม้ผลิแห่งประชาชาติ (Spring Time of Nations) ใน ค.ศ. ๑๙๘๙ รัฐสภาฮังการีประกาศยกเลิกการปกครองระบอบสังคมนิยมและให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนในการชุมนุมและเคลื่อนไหวตลอดจนการแสดงออกทางความคิดเห็น ต่อมาในเดือนตุลาคมค.ศ. ๑๙๘๙พรรคคอมมิวนิสต์ฮังการีถูกยุบ ฮังการีประกาศเปลี่ยนการปกครองจากเดิมเป็นระบอบประชาธิปไตยและเปลี่ยนชื่อประเทศใหม่เป็นสาธารณรัฐฮังการีอีก๒ ปีต่อมา กองทหารโซเวียตที่เคยประจำอยู่ตามพรมแดน ก็เริ่มถอนทัพออก โดยกองทหารโซเวียตหน่วยสุดท้ายถอนกำลังออกจากดินแดนฮังการีเมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายนค.ศ. ๑๙๙๑
     ในทศวรรษ ๑๙๙๐ ฮังการีพยายามปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตยทุก ๆ ด้าน และปรับความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศเพื่อนบ้านคือโรมาเนีย สโลวาเกีย และยู เครนซึ่งขัดแย้งกันเรื่องการอ้างสิทธิในดินแดนของกันและกันมีการลงนามในสนธิสัญญาระหว่างกัน โดยยกเลิกการอ้างสิทธิในดินแดนและเสริมสร้างความร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาชนชาติกลุ่มน้อยในดินแดนของกันและกัน ฮังการีเน้นการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเทศตะวันตกและการร่วมมือระหว่างภูมิภาคด้วยการสนับสนุนการสร้างสันติภาพในบอสเนีย และคอซอวอ (Kosovo) องค์การป้องกันแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (North Atlantic Treaty Organization - NATO) จึงยอมให้ฮังการีสมัครเข้าเป็นสมาชิกได้ใน ค.ศ. ๑๙๙๗ โดยมีฐานะเป็นประเทศภาคีเพื่อสันติภาพ(Partnership for Peace) ขององค์การนาโต และในค.ศ. ๑๙๙๙ ก็ได้เข้าเป็นสมาชิกสมบูรณ์ขององค์การนาโต นโยบายสำคัญประการหนึ่งของฮังการีคือการจะเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (European Union) ด้วยการเตรียมการปรับความพร้อมทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานต่าง ๆของสหภาพยุโรป ต่อมา ฮังการีก็ได้เข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปโดยสมบูรณ์เมื่อวันที่ ๑พฤษภาคม ค.ศ. ๒๐๐๔
     ใน ค.ศ. ๒๐๐๔ พรรคสังคมนิยมฮังการี (Hungarian Socialist Party)มีชัยชนะในการเลือกตั้งและได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสมบริหารประเทศโดยมีเฟอเรนซ์ยูร์ซอนี (Ferenc Gyurcsány) เป็นนายกรัฐมนตรีต่อมาใน ค.ศ. ๒๐๐๖ยูร์ซอนีก็ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ ๒ และนับเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกนับตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๙๐ ที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่ง ๒ วาระอย่างไรก็ตามในเดือนกันยายน ค.ศ. ๒๐๐๖ ฝ่ายตรงข้ามนายกรัฐมนตรีได้นำบันทึกเทปมาเปิดเผยต่อสาธารณชนโดยกล่าวว่าผู้นำประเทศโกหกต่อประชาชนเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจของประเทศ กระแสการต่อต้านนายกรัฐมนตรีจึงก่อตัวขึ้นและมีผลให้รัฐบาลสูญเสียความนิยมและในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นในต้นเดือนตุลาคมผู้สมัครของฝ่ายรัฐบาลก็พ่ายแพ้อย่างยับเยินอย่างไรก็ตาม ในการลงคะแนนเสียงไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีของรัฐสภา ที่ถ่ายทอดสู่สาธารณชนเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ยูร์ซอนีได้คะแนนเสียงไว้วางใจ ๒๐๗ : ๑๖๕ วิกฤตการณ์ทางการเมืองของรัฐบาลจึงยุติลง.
     

ชื่อทางการ
สาธารณรัฐฮังการี(Republic of Hungary)
เมืองหลวง
บูดาเปสต์ (Budapest)
เมืองสำคัญ
เดเบรตเซน (Debrecen) และมิชโคลซ์ (Miskolc)
ระบอบการปกครอง
ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา
ประมุขของประเทศ
ประธานาธิบดี
เนื้อที่
๙๓,๐๓๐ ตารางกิโลเมตร
อาณาเขตติดต่อ
ทิศเหนือ : ประเทศสโลวาเกีย และประเทศยูเครน ทิศตะวันออก : ประเทศโรมาเนีย ทิศใต้ : ประเทศสโลวีเนีย และประเทศโครเอเชีย ทิศตะวันตก : ประเทศออสเตรีย
จำนวนประชากร
๙,๙๕๖,๑๐๘ คน (ค.ศ. ๒๐๐๗)
เชื้อชาติของประชากร
แมกยาร์ร้อยละ ๙๒.๓ และอื่น ๆ ร้อยละ ๗.๗
ภาษา
ฮังการี
ศาสนา
คริสต์นิกายโรมันคาทอลิกร้อยละ ๕๑.๙ คริสต์นิกายแคลวินร้อยละ ๑๕.๙ นิกายลูเทอร์รันร้อยละ ๓ อื่น ๆ ร้อยละ ๓.๖ ไม่ระบุ ร้อยละ ๑๑.๑ และไม่นับถือศาสนาร้อยละ ๑๔.๕
เงินตรา
ยูโร
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ
แหล่งอ้างอิง
สารานุกรมทวีปยุโรป